คัมภีร์เลี้ยงลูกยุคบริโภคนิยมครองเมืองกับปริศนาแนวคิดหน้าต่าง 7 บาน
คัมภีร์เลี้ยงลูกยุคบริโภคนิยมครองเมืองกับปริศนาแนวคิดหน้าต่าง 7 บาน
เด็กไทยยุคใหม่คือ เด็กที่ต้องเกิดมาเผชิญกับโลกแบบใหม่ ซึ่งเป็นโลกที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย และมีการแผ่ขยายอย่างรวดเร็ว ทั้งทางด้านกระแสวัตถุนิยมที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งแม้แต่ผู้ใหญ่ยังยากที่จะต้านทานอยู่ ส่วนหนึ่งของปัจจัยข้างต้นทำให้มีช่องว่างทางเศรษฐกิจ สังคม และโอกาสระหว่างบุคคลและชุมชน มากกว่าแต่ก่อน รวมถึงความใกล้ชิดของครอบครัวก็ลดน้อยลงตามไปด้วย
การสอนลูกเป็นเรื่องง่าย เพราะสอนได้จากชีวิตประจำวัน
ภาพเด็กที่สับสนต้องเผชิญกับทางเลือกมากมายจึงมีให้เห็นได้ไม่ยากนัก เช่น เด็กมักจะตกเป็นเหยื่อกระแสวัตถุนิยม ที่ต้องการยั่วยุให้มีการบริโภค เพื่อผลทางการค้าขาย ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือเด็กไทยยุคใหม่จึงจำเป็นต้องมีวิจารณญาณรู้จักแยกแยะ ใช้เหตุใช้ผล การตัดสินใจสิ่งต่างๆ
และในภาวะที่เด็กๆ ต้องเผชิญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เด็กจึงต้องการผู้ใหญ่ มาแลกเปลี่ยนความคิด หรือมาสอนให้รู้จักควบคุมตนเอง รู้อะไรเป็นอะไร รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ รู้คิดและแก้ปัญหาได้
แต่ก็ทำเอาพ่อแม่หลายคนต้องวิ่งโร่หาคำปรึกษากันจ้าละหวั่น พ่อแม่บางคู่ถึงขนาดต้อง "กางตำราเลี้ยงลูก" เพราะกลัวจะดูแลลูกได้ไม่ดีพอ ในขณะที่บางบ้านใช้วิธีเลี้ยงแบบตะวันตกโดยให้เหตุผลว่า ลูกจะได้ก้าวทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ผลที่ได้คือส่วนมากลูกเท่าทันและออกจะล้ำหน้าเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่พ่อแม่ต่างหากที่กลับตามไม่ทันเสียเอง
เมื่อลูกโตพร้อมโทรทัศน์
น.พ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมศานต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ ให้ข้อมูลว่า มีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับในปัจจุบันคือ แม้ว่าพ่อ แม่ ลูกจะอยู่ในบ้านเดียวกัน แต่ก็เหมือนไม่ได้อยู่ด้วยกัน เพราะมีสื่อเสรีอย่างโทรทัศน์เข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ในครอบครัวไปหมด ลูกร้องจะดูการ์ตูน แม่อยากดูละคร พ่อรอดูฟุตบอลเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัย กดไปแต่ละช่อง แทบจะหารายการที่ดูร่วมกันไม่ได้เลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารายการโทรทัศน์สำหรับครอบครัวที่จะนั่งลงดูพร้อมกันทั้งบ้านกำลังขาดแคลน หลายบ้านจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้โทรทัศน์เครื่องใครเครื่องมัน เวลาในบ้านจึงน้อยลงไปทุกที
ยิ่งหากบ้านไหนสอนทุกวัน ก็จะเป็นเรื่องง่ายที่ลูกจะโตมาได้ดั่งใจ
ผลที่ตามมาก็คือ เด็กที่ดูทีวีบ่อย มักจะเป็นเด็กที่เก็บตัว มีสังคมน้อย โลกทัศน์จะแคบ ความคิดเหมือนถูกบล็อกเอาไว้เท่าที่ได้ดู ซึ่งพบว่าพ่อแม่ก็ต้องมานั่งกลุ้มใจภายหลังว่าเพราะอะไรลูกถึงเข้ากับใครไม่ได้เมื่อไปโรงเรียน
แก้ปัญหาด้วยหน้าต่าง 7 บาน
คุณหมอผู้คร่ำหวอดด้านพัฒนาการเด็กจึงแนะนำว่า สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรตระหนักรู้คือเรื่องของ "หน้าต่างแห่งโอกาส" ของลูกในแต่ละวัยที่จะเปิดตามกาลเวลา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะมีเพียง 7 บานหน้าต่าง ที่จะเปิดโอกาสให้ 3 ช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งหากทำได้แล้วจะถือเป็นการปรับความพร้อมพัฒนาการทางอารมณ์ของลูก ให้เข้าสู่สังคมได้
นับเป็นช่วงเวลาทองที่จะใช้สถาบันครอบครัวให้คุ้มค่าที่สุด ที่จะได้ฝึกและเฝ้ามองพัฒนาการของลูกอย่างเต็มความสามารถ โดยที่เด็กจะเข้าใจตามวุฒิภาวะของเขาเองได้ไม่ยากนักและยังมีใจที่จะทำตามคำสอนของพ่อแม่ด้วยความสมัครใจ ไม่เกี่ยงงอนเหมือนโดนบังคับ
"หน้าต่าง 2 บานแรกอยู่ในช่วงวัยอนุบาล คือ 3-5 ขวบ ได้แก่ การรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเอง และ การรู้จักถูกผิด พ่อแม่หลายคนมักใจอ่อนเวลาเดินห้างแล้วลูกร้องอยากได้ของเล่น พอไม่ได้ก็กรีดร้องแล้วลงไปนอนชักดิ้นชักงอ ก็ยอมควักกระเป๋าสตางค์ซื้อ ทำให้เด็กรู้จุดอ่อน ครั้งต่อไปก็จะทำอย่างนี้อีกฉะนั้น ห้ามตามใจเด็ดขาด การให้ของทุกอย่างต้องมีเหตุมีผลหรือให้เด็กร่วมตั้งเงื่อนไขด้วยจะดีกว่า
ส่วนเรื่องการรู้จักถูกผิดนั้น ปรับเพื่อให้เข้ากับสังคมได้ โดยเน้นคุณธรรมเป็นรากฐาน ต่อด้วยความมีจิตสำนึก ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับปัจจุบันที่เด็กทำผิดแล้วไม่สำนึกเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่น่าจะผิดอะไรมากมาย พลอยให้มีเรื่องทะเลาะกับผู้ใหญ่อีกทอดหนึ่ง หากละเลยไปโตขึ้นจะแก้ไขลำบากและมักนำความเดือดร้อนมาให้พ่อแม่แบบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเขาจะไม่มีสำนึกว่าทำผิดอะไร"
ช่วงวัยประถม คือ 6-12 ขวบ จะมีหน้าต่างเปิดขึ้นอีก 3 บานคือ ประหยัด มีวินัย ใฝ่รู้ ฟังดูเผินๆอาจเหมือนคำขวัญเชยๆ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง เพราะช่วงนี้เองที่จะฉายแววเรื่องอนาคตทางการเงินและนิสัยของเด็กในวันข้างหน้าได้
"หลายคนถามผมว่าทำไมต้องสอนเรื่องประหยัดในวัยประถม ทั้งนี้ เพราะเด็กจะเรียนรู้เรื่องของจำนวนและความแตกต่างทางมูลค่าได้ในวัยนี้ การสอนเรื่องการประหยัดอย่างการใช้เงินก่อน จะทำให้ไม่มือเติบ ใช้เงินเกินตัว จากนั้นจึงค่อยขยับขยายไปสอนเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม""ผมเห็นบางบ้านสอนให้ประหยัดทุกอย่างในบ้าน แต่พอออกไปนอกบ้านก็กลับสอนให้เต็มที่ทุกอย่าง เช่น การตักอาหารแบบบุพเฟต์แล้วกินไม่หมด ก็บอกว่าไม่เป็นไรเพราะถือว่าจ่ายเงินไปแล้ว หรือเปิดน้ำในโรงเรียน โรงแรมใช้โดยไม่ปิด เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสอนที่ไม่รับผิดชอบสังคม เด็กที่ดีควรจะโตมาพร้อมกับการรับผิดชอบต่อสังคมด้วยจึงจะสมบูรณ์ ไม่ใช่เอาแต่ตัวเองรอด คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง อย่างนี้ถือว่ามีความเป็นคนที่ไม่สมบูรณ์ "
ส่วนการมีวินัย สามารถฝึกได้จากการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นกำหนดเวลาทำการบ้าน ดูทีวีที่เหมาะสม อย่าตามใจเกินไป ส่วนงานบ้านก็นำมาใช้ฝึกเรื่องวินัยได้เช่นกัน โดยต้องสอนและแบ่งให้เขาทำ เพราะความรู้สึกของการมีส่วนร่วมจะยิ่งให้เขารักและผูกพันกับบ้านมากขึ้น
สำหรับการใฝ่รู้ ก็ไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นเรื่องการเรียนเพียงอย่างเดียวควรทำให้เขาพร้อมที่จะเรียนรู้กับทุกเรื่อง สนุกและมีความสุขกับการได้รู้ในสิ่งใหม่ๆที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเขาเองและคนรอบข้าง สามารถแทรกไปกับกิจกรรมได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น การ พาไปเดินเล่นในสวน พาไปจ่ายตลาด ช่วยทำกับข้าว ล้างรถ เป็นต้น
สุดท้ายช่วงวัยรุ่นคือ 12 ปีขึ้นไป ช่วงนี้เองที่ความต้องการในด้านต่างๆของเขาจะถูกเปิดขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน เริ่มรู้จักอะไรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการย้ายโรงเรียน หรือความพร้อมที่จะ"ฉายเดี่ยว" ในที่สาธารณะ ว่ากันว่าเป็นช่วงที่เขาจะไม่ติดพ่อกับแม่แล้ว แต่จะหันไปติดเพื่อนแทน ฉะนั้นเรื่อง ค่านิยมทางเพศและค่านิยมทางสังคม คือหน้าต่าง 2 บานสุดท้ายที่พ่อแม่จะช่วยแง้ม
คอมพิวเตอร์ เกม เล่นได้ แต่อย่าให้มากนัก เดี๋ยวจะติดเกมมากกว่าติดพ่อแม่
ช่วยคิดช่วยทำได้ แต่ปล่อยให้คิดเองทำเองจะดีกว่า
"เชื่อหรือไม่ว่า ทุกวันนี้พ่อแม่แทบไม่ได้สอนเรื่องค่านิยมทางเพศให้กับลูกเลย แต่สื่อต่างหากที่สอน สื่อหลายๆอย่างเข้าถึงเด็กได้อย่างรวดเร็วและฉาบฉวย 40 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในวัยนี้ได้ดูสื่อลามกกันเกือบหมดแล้ว ทางอินเทอร์เน็ตบ้าง หนังสือปกขาวบ้าง ซึ่งเราไม่สามารถคุมได้เลย จนเกิดภาวะเรื่องทางเพศที่เลวร้ายลงทุกที เรียกได้เต็มปากว่าขั้นวิกฤติ"
มีตัวอย่างหนึ่งที่น่ากลัวมาก คือ เด็กชายคนหนึ่งได้ดูวีซีดีลามกของพ่อ เนื้อเรื่องมีผู้ชาย4 คนกำลังร่วมรักกับผู้หญิง 1 คน ด้วยความที่เขายังเด็กก็เข้าใจว่าทำอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องผิดและไม่ได้มองเป็นการข่มขืน เพราะภาพในหนังมันไม่มีภาพไหนบ่งบอกเลยว่าผู้หญิงเจ็บปวดหรือทรมาน ตรงกันข้ามกลับมีแต่ใบหน้าและเสียงร้องที่เป็นสุข จากนั้นเขาจึงไปชวนเพื่อนทำอย่างนี้กับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เขาชอบ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็สายไปเสียแล้ว
"ส่วน ค่านิยมทางสังคม จะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการดำเนินชีวิตเขาได้ ให้เขาหาตัวเองให้เจอก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เพื่อที่จะได้ไม่เลือกคณะตามเพื่อน หรือถ้าเป็นไปได้ควรหาให้พบ ก่อนขึ้นมัธยมปลาย จะได้มีการเตรียมความพร้อม เพราะในบางสาขาวิชาต้องวัดความรู้ความสามารถเฉพาะทางด้วย แต่จะต้องให้เขาเป็นคนเลือกเอง พ่อแม่ไม่ควรคิดและตัดสินใจให้ แค่ให้คำปรึกษาและเป็นกำลังใจก็เพียงพอแล้ว"คุณหมอกล่าว
จะเห็นได้ว่าหน้าต่างทั้ง 7 บานนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวสามารถสอนได้จากชีวิตประจำวัน เพียงแค่แบ่งเวลามาสอนวันละนิดก็คงจะดีกว่าต้องมารวมหัวหาทางแก้ไขในภายหลัง..
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
< หมวดกระทู้ธรรมดา >