นักแต่งรถอย่างเราๆ เรื่องดูแลความสะอาดรถสุดที่รัก นั้นถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งชีพ ภายนอกต้องสะอาด ภายในต้องหอมกลุ่น จะให้ล้างให้ขัดยังไงขอให้บอก แต่พอคิดถึงเรื่องจะล้างห้องเครื่องทีไร คิดแล้วคิดอีก บางคนบอกว่า เครื่องหัวฉีดห้ามโดนน้ำบ้าง ล้างแล้วจะทำให้เครื่องรวนบ้าง หรือเครื่องพังไปเลย วันนี้เรามาดูกันครับว่า ถ้าจะล้างห้องเครื่องยนต์ให้สะอาดเอี่ยมปราศจากคราบฝุ่นและคราบน้ำมัน เปิดเครื่องโชว์ได้ไม่อายใคร ตรวจเช็คปัญหาพวกเรื่องน้ำมันรั่วซึมได้ง่าย และไม่มีปัญหา ต้องทำตาม 8 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. ถอดขั้วแบตเตอร์รี่ก่อน การล้างครั้งนี้เราต้องใช้น้ำ และน้ำคือสื่อไฟฟ้า อาจจะทำให้เกิดการลัดวงจรต่อระบบไฟหัวฉีด กล่องคอมพิวเตอร์พังได้ (พังมาเยอะ) หรือเกิดไฟช็อตลุกติดน้ำมันผสมได้ (กลายเป็นได้ซื้อรถใหม่ทั้งคัน ) และอย่างน้อยก็ป้องกันคนหวังดี แอบไปสตาร์ทเครื่องในขณะคุณที่กำลังล้างเครื่องอยู่
2. หุ้มพลาสติกปลั๊กไฟ และพวกขั้วไฟฟ้าต่างๆ เช่น ปลั๊กจานจ่าย จานจ่าย คอยล์ ตัวช่วยจุดระเบิด ปลั๊กเซนเซอร์ หัวฉีดต่างๆ ที่พอจะหุ้มได้ กล่องฟิวส์ และปลั๊กไฟที่สำคัญทุกๆ จุด
3. ผสมน้ำมันล้างกับน้ำยา หาภาชนะมาเทน้ำยาล้างเครื่องลงไปก่อน แล้วใช้น้ำมันเทผสม โดยน้ำมันดีเซล โซล่า ใช้กรณีที่สกปรกน้อย พวกจุดที่มีฝุ่นผงเกาะ น้ำมันเปื้อนเล็กน้อย คอไอดีที่เป็นอะลูมิเนียม หรือพวกจุดต่างๆที่ต้องการความเงางาม และจุดที่เป็นอลูมิเนียมปัดเงา การผสมน้ำมันดีเซลจะทำให้เกิดความเงางามเพิ่มขึ้น อัตตราส่วนไม่ควรเกิน 2:1 (น้ำยา 2 ส่วน : น้ำมันโซล่า 1 ส่วน) ผสมมากเกินไปจะใสล้างไม่ค่อยออก ผสมน้อยไปก็ล้างไม่ค่อยออกเหมือนกัน ส่วนน้ำมันเบนซิล ใช้ในกรณีสกปรกมากๆ จุดที่จะล้างมีคราบน้ำมันเหนียว หรือเป็นคราบแข็งเป็นเวลานานๆ การผสมน้ำมันเบนซิลมีผลในการกัดที่รุนแรงมาก ไม่ควรใช้ทากับพลาสติก จุดที่เป็นสีดำ จุดที่พ่นสีด้วยสีเสปย์ หรือพวกอลูมิเนียมเงา หรือปัดเงา จะทำให้เกิดคราบกัดขาว อัตตาส่วนผสมไม่ควรเกิน 3:1 หรือ 2:1 (น้ำยา 3 ส่วน : น้ำมัน 1 ส่วน) ผสมมากการกัดก็รุนแรงมาก
4. ทาน้ำยาผสมล้างให้ทั่ว ใช้แปรงทาสี จุ่ม และค่อยๆทา ถ้าไม่ออกทาแรงๆ ถ้าไม่ออกก็ฟองน้ำ สก็อตไบท์ บรรเลงลงไปเลยครับ นี่หละเคล็ดลับ แต่การใช้สก็อตไบท์ ต้องระวังหน่อย อย่าขัดพวกสีรถ หรือพวกพลาสติก จะทำให้เกิดรอย ใช้ในจุดที่อยากให้ออกจริงๆ ต้องระวัง
5. ใช้น้ำล้างออก ควรใช้ฟองน้ำชุบน้ำหมาดๆ เช็ดน้ำยาและคราบออก ตามจุดที่ควรระวังเช่น ฝาครอบสายหัวเทียน สายหัวเทียน ฝาครอบวาล์ว จานจ่าย ตัวช่วยจุดระเบิด กล่องฟิวส์ และจะสำคัญเกี่ยวกับระบบไฟทุกๆจุด และใช้น้ำค่อยๆเทราดไปในส่วนที่ต้องการล้าง ใช้แปรง และฟองน้ำ ควบคู่กันจนออกหมด
6. เป่าลมไล่น้ำให้แห้ง ใช้เครื่องปั้มลม หรือเครื่องดูดฝุ่น(ต่อให้เป็นแบบเป่าลมได้) หรือถ้าไม่มีจริงๆ ก็ไดเป่าผมเนี่ยหละครับ ต้องลงทุนกันบ้างแล้ว เป่าไล่น้ำตามจุดต่างๆ ออกให้หมด เน้นๆพวกปลั๊กไฟ จานจ่าย และหัวเทียน พร้อมแกะพลาสติกหุ้มออกให้หมด และเป่าลมจนน้ำแห้งสนิท
7. ใส่ขั้วแบตสตาร์ทเครื่องได้ เป็นการทดสอบว่ามีน้ำเข้าไปตามปลั๊กไฟหรือไม่ ถ้าเครื่องยังเดินสมบูรณ์ไม่มีปัญหาถือว่าไชโยโอเค ถ้าเกิดสตาร์ทไม่ติด หรือเดินไม่นิ่ง ต้องถอดขั้วแบต และเป่าลมไล่น้ำอีกครั้ง เน้นๆจานจ่าย คอยล์ ปลั๊กหัวเทียน และปลั๊กไฟต่างๆ ถ้าไม่แน่ใจให้ถอดมา แล้วเป่าลมให้แห้ง พ่นน้ำยากันสนิม หรือน้ำยาล้างหน้าคอนแทค ถือเป็นการทำความสะอาดขั้วไฟไปในตัว
8. เคลือบเงา หลังจากสตาร์ทเครื่องอุ่นสักพักจนน้ำแห้งดี รอให้เครื่องเย็นก่อนครับ แล้วใช้น้ำยาเคลือบเงา พวก Waxy มาจุ่มด้วยฟองน้ำ และทาในจุดที่ต้องการให้เงางาม ถือว่าดีที่สุด หรือใช้น้ำมันพวกครอบจักรวาล พ่นเคลือบในจุดที่แห้ง และจะเกิดสนิม ใช้น้ำมันเครื่องกับจารบี ทาหรือหยอดในจุดหมุนต่างๆ เป็นการป้องกันสนิม และหล่อลื่นไปในตัว การใช้น้ำมันเครื่องมาทาให้เงางาม ผลเสียคือฝุ่นจะจับตัวเร็วมาก ถ้าเป็นน้ำมันครอบจักรวาล พวกนี้จะระเหยตัวเร็ว ต้องพ่นเคลือบและเช็ดบ่อยๆ
ข้อมูลจาก thaicarlive
