เปิดตัว 'แว่นตากันหลับใน' เตือนคนขับรถ ช่วยลดอุบัติเหตุ-การสูญเสีย 'สจล.' เจ๋ง! เอาออกโชว์ในงานก้าวสู่ 50 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง พร้อมนวัตกรรมอีกเพียบกว่า 1,000 ชิ้น ผลงานวิจัยของอาจารย์-นักศึกษา และนักวิจัยของสถาบัน ฟุ้งเป็นนวัตกรรมสิ่งประ ดิษฐ์ที่แปลกใหม่โดดเด่นใช้งานได้จริง
ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 ก.ค. แถลงข่าวจัดงาน ?ก้าวสู่ 50 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง? โดยมี รศ. ดร.กิตติ ตีรเศรษฐ อธิการบดี และคณบดีของคณะต่าง ๆ จำนวน 8 คณะ ร่วมกัน แถลงถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน และ นำชมงานวิจัยและผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาจัดแสดงในงาน รศ.ดร.กิตติ กล่าวว่า การจัดงานครบรอบ 50 ปี ในครั้งนี้จะจัดให้มีนิทรรศการทางวิชาการ ในวันที่ 24-27 ส.ค.นี้ ที่สถาบัน เพื่อเผยแพร่งานนวัตกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ที่มีมาก กว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งทางอาจารย์ นักศึกษา และนักวิจัยของสถาบัน คิดค้นและพัฒนาขึ้น เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่แปลกใหม่และโดดเด่น นำไปใช้งานได้จริง ผลงานที่น่าสนใจ อาทิ แว่นตากันหลับใน, การออกแบบแอนิเมชั่นเพื่อการบำบัดเด็กพิเศษ และข้าวสำเร็จรูปบรรจุกระป๋อง ฯลฯ
ด้าน รศ.อนุพงศ์ สรงประภา อาจารย์ ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ผู้พัฒนาแว่นตากันหลับใน เปิดเผยว่า แว่นตาที่พัฒนาขึ้นถูกออกแบบมาให้ใกล้เคียงกับแว่นตาทั่วไป เพียงแต่ที่ขาแว่นทั้งสองข้างจะมีการติดเซ็นเซอร์และตัวไมโครคอนโทรล เลอร์ขนาดเล็ก เพื่อรับแสงจากแหล่งกำเนิดอินฟราเรด หรือการใช้อะเรย์แนวดิ่งรับภาพจากแสงภายนอกที่สะท้อนบริเวณเปลือกตาและดวงตาตลอดเวลา โดยหลักการทำงานจะเป็นการตรวจจับการกะพริบและหลับตา ซึ่งในภาวะปกติคนเราจะกะพริบตาประมาณ 16 ครั้งต่อนาที แต่เมื่อเกิดการเมื่อยล้าเริ่มรู้สึกง่วงนอนจะกะพริบตาเพิ่มมากกว่าปกติ หรือหากหลับตาเกิน 4 วินาที เซ็นเซอร์ก็จะตรวจจับแล้วส่งสัญญาณคลื่นวิทยุแบบ ไร้สายไปที่เครื่องรับที่ติดอยู่บริเวณพวงมาลัยรถยนต์ให้เสียงแตรดังขึ้น เพื่อเตือนให้ผู้ ขับขี่และผู้โดยสารรู้ตัวว่าผู้ขับขี่เริ่มมีอาการหลับใน จะได้จอดพักชั่วคราวไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียจากการฝืนขับรถต่อไป นอกจากนี้ เสียงแตรที่ดังยังสามารถเตือน ไปยังผู้ขับขี่รถคันอื่นให้ระมัดระวังมากขึ้นด้วย
รศ.อนุพงศ์ กล่าวต่อว่า ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาในการพัฒนาต่อเนื่องนานเกือบ 4 ปี มีต้นทุนต่อชิ้นประมาณ 600 บาท อย่างไรก็ดี แว่นตากันหลับในนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้เพียง 30-45 นาทีเท่านั้น เนื่องจากการส่งสัญญาณแบบไร้สายใช้พลังงานมาก จึงเตรียมพัฒนาให้ใช้งานได้นานขึ้น โดยอาจนำหลักการแบบเดียวกับรีโมตคอนโทรลของโทรทัศน์มาประยุกต์ ซึ่งจะใช้พลังงานไม่มาก นอกจากนี้ ยังต้อง ออกแบบให้มีลักษณะที่สวยงามกะทัดรัดและมีน้ำหนักเบามากขึ้นด้วย ซึ่งเมื่อได้ผลงานต้นแบบและนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว จะทำให้มีต้นทุนต่ำกว่า 500 บาทต่อชิ้น.
