ปลดล็อคติดบัญชีดำ 3 ปีเครดิตบูโรดีหรือไม่?
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เครดิตบูโร ยังเป็นหนามแหลมของการกู้ไม่ผ่าน สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมกระทุ้งอีกรอบปลดล็อคเรื่องจ่ายหนี้แล้ว ไม่ควรติดบัญชีดำ 3 ปีภาพประกอบข่าว
เครดิตบูโร ยังเป็นหนามแหลมของการกู้ไม่ผ่าน สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมกระทุ้งอีกรอบปลดล็อคเรื่องจ่ายหนี้แล้ว ไม่ควรติดบัญชีดำ 3 ปี
สำหรับคนที่เคยทำเรื่องกู้ในระบบทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น กู้สินเชื่อส่วนบุคคล ทำบัตรเครดิตใบใหม่ กู้ซื้อรถ กู้ซื้อบ้าน ล้วนต้องรู้จักคำว่า ?เครดิตบูโร? หรือการตรวจสอบประวัติทางการเงิน การชำระหนี้ต่างๆ ติดค้างหนี้ในระบบใดบ้าง มีบัตรเครดิตกี่บัตร เจ้าหนี้ของเราจะส่งข้อมูลไปให้ศูนย์ข้อมูลเครดิตเก็บบันทึกไว้ เมื่อเวลาเราดำเนินการเป็นหนี้รอบใหม่ ก็จะต้องตรวจสอบประวัติทางการเงินจากศูนย์ข้อมูลเครดิต หรือที่เรียกกันสั้นๆ ง่ายๆ ว่า เช็คเครดิตบูโร นั่นเอง
ถ้าประวัติทางการเงินในศูนย์ข้อมูลเครดิตดีเยี่ยม นั่นหมายถึง สุขภาพทางการเงินดีพร้อมที่จะกู้รอบใหม่ โอกาสที่บรรดาผู้ปล่อยสินเชื่อจะให้กู้ก็มีสูง แต่ถ้าสุขภาพทางการเงินย่ำแย่ แบงก์ไหน สถาบันการเงินในระบบใดใดก็ไม่อยากปล่อย ซึ่งส่วนใหญ่การตรวจสุขภาพทางการเงินจะอยู่ในขั้นตอนเกือบๆ สุดท้ายก่อนอนุมัติวงเงินสินเชื่อ คุณสมบัติอื่นอาจผ่านฉลุย แต่ติดเพียงเครดิตบูโรติดก็มีโอกาสกู้ไม่ผ่านเสียแล้ว
เครดิตบูโร จึงกลายเป็นหนามแหลมของผู้ขอกู้สินเชื่อรอบใหม่หลายคน ที่แม้จะล้างหนี้เป็น 0 แล้ว ไม่มีหนี้สินผูกพันกับเจ้าของเงินกู้ในระบบใดใด แต่เพราะประวัติการชำระเงินที่ผ่านมาไม่เรียบร้อยนัก ชื่อของคุณก็ยังติดอยู่ในบัญชีดำเครดิตบูโรนานถึง 3 ปี ขอกู้ทำธุรกรรมใดใดไม่ได้ถึง 3 ปี
เมื่ออยากมีบ้านเป็นของเจ้าตัวเอง จ่ายเงินจอง พร้อมเข้าอยู่แล้ว แต่ดันขอกู้ไม่ผ่าน เพราะเช็คประวัติทางการเงินกับเครดิตบูโรแล้วติดบัญชีดำตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน เจ้าเครดิตบูโร จึงกลายเป็นจำเลยของบรรดาผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ทำให้ลูกค้าของเขากู้ไม่ผ่าน ทำให้บ้านของเขาโอนไม่ได้ บวกกับเจอสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเป็นพิษ แบงก์เข้มกับการปล่อยกู้ ยอดปฏิเสธสินเชื่อจึงพุ่งกระฉูด บางรายร้องโอดครวญว่าถูกปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 50% บางรายให้ข้อมูลว่าอยู่ที่ประมาณ 10-15% บางรายก็ราวๆ 20% หรือบางรายก็ให้ข้อมูลเชิงบวกที่ต่ำกว่า 10%
ผลกระทบต่อเนื่อง!! ยอดขายเข้าเป้า แต่ยอดโอนไม่คืบ แบบนี้ขายได้ก็เท่ากับไร้ความหมาย มีแต่ยอดขาย แต่ไม่มีตัวเงินเข้ามา
บรรดาผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงต้องวิ่งวุ่นเจรจากับแบงก์ถึงประเด็นเรื่องความเข้มข้นในการปล่อยกู้ ทำยังไง มีวิธีไหนที่จะช่วยลูกค้าให้กู้ได้ งานนี้แบงก์จึงต้องโยนเผือกร้อนไปให้ทางศูนย์ข้อมูลเครดิตว่าที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ เพราะลูกค้ากลายเป็นบัญชีดำในเครดิตบูโร จึงไม่สามารถปล่อยกู้ให้ได้
ผู้ประกอบการอสังหาฯ จึงต้องตามจี้กับทางศูนย์ข้อมูลเครดิตว่า มีวิธีไหนบ้างที่จะปลดล็อคให้คนที่ล้างหนี้แล้วไม่ต้องติดบัญชีดำ 3 ปีบ้าง แต่จี้แล้ว จี้อีก ก็ยังไม่เป็นผล
นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวให้ความคิดเห็นว่า ปัจจัยที่ทำให้กู้ไม่ผ่านส่วนใหญ่เป็นเพราะเคยมีประวัติทางการเงินที่ไม่ดีกับเครดิตบูโร แม้ว่าจะมีการชำระหนี้แล้ว แต่ยังต้องอยู่ในบัญชีดำของเครดิตบูโรไปถึง 3 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางสมาคมฯ พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมข้อมูลเครดิตนั้นระบุไว้ว่า ผู้ที่เคยมีประวัติการชำระเงินไม่สม่ำเสมอให้มีชื่อเป็นบัญชีดำได้ไม่เกิน 3 ปี ซึ่งหมายความว่า ศูนย์ข้อมูลเครดิตสามารถเลือกให้เป็นบัญชีดำได้ในระหว่าง 1-3 ปี แต่ทางศูนย์ข้อมูลเครดิตก็เลือกที่จะใช้เต็มโควตาที่ 3 ปี
ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านบางรายผ่านคุณสมบัติในการตรวจสอบสุขภาพทางการเงินเกือบทุกขั้นตอน แต่เช็คเครดิตบูโรแล้วไม่ผ่าน เพราะเคยติดหนี้บัตรเครดิตในระดับไม่กี่พันบาท เมื่อชำระเรียบร้อยแล้ว ก็ยังติดอยู่ในบัญชีดำของเครดิตบูโร ซึ่งต้องติดอยู่ในบัญชีดำเช่นนี้นานถึง 3 ปี มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ทางศูนย์ข้อมูลเครดิตควรปรับเกณฑ์ใหม่ให้เหมาะสม อาจใช้วิธีแบ่งระดับของประวัติทางการเงิน เช่น กลุ่มผู้ประกอบการตั้งแต่วงเงินเท่าไรขึ้นไปให้ติดอยู่ในบัญชีดำสูงสุด 3 ปี รองลงมาเป็น 2 ปีและ 1 ปีตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับกลุ่มผู้บริโภค ให้กำหนดวงเงินกู้ที่เคยค้างชำระอยู่ที่เท่าไรถึงจะติดในบัญชีดำ 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี
ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ เคยเสนอประเด็นดังกล่าวไปยังศูนย์ข้อมูลเครดิตตั้งแต่สมัยรัฐบาลสุรยุทธ จุลานนท์ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข หรือมีแนวโน้มว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหยิบเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา ซึ่งทางสมาคมฯ เองมีแนวคิดที่จะเข้าหารือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีกครั้ง โดยการปลดล็อคไม่ได้จำกัดเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เป็นสินเชื่อรวมทั้งหมด เชื่อว่าการปรับเกณฑ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลเครดิตให้เหมาะสมไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย และยังจะเป็นผลดีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย
นายอธิป ยังกล่าวย้ำว่า ที่ผ่านมาทางศูนย์ข้อมูลเครดิตได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องว่าจะพิจารณาประเด็นดังกล่าว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าแต่อย่างใด รวมถึง ทางฝั่งสถาบันการเงินเองก็เช่นกัน แม้จะมีการพูดคุยถึงเรื่องการลดความเข้มข้นในการพิจารณาสินเชื่อ แต่ในทางปฏิบัติแล้วระดับความเข้มข้นก็ยังคงเท่าเดิม ซึ่งมองว่าเหตุผลน่าจะมาจากการที่แมสเสจที่ได้พูดในระดับผู้บริหารไม่ได้ลงไปถึงระดับปฏิบัติการที่ต้องดำเนินการตามหน้าที่
ท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องเช็คเครดิตบูโรอย่างเข้มข้น จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการมองว่า หากมีการปลดล็อคติดบัญชีดำ 3 ปีกับศูนย์ข้อมูลเครดิต ก็จะมีโอกาสผู้ซื้อบ้านได้รับการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม กลไกของการขอสินเชื่อนั้น อาจมีมากกว่า 1 ปัจจัยที่ทำให้เกิดการกู้ไม่ผ่าน ประเด็นของเครดิตบูโรเป็นเพียงหนึ่งในปัจจัยเท่านั้น ซึ่งวันนี้ ?เครดิตบูโร? หนึ่งในปัจจัยที่กล่าวถึงนี้ กลายเป็นจำเลยหลักของการกู้ไม่ผ่านเสียแล้ว
สำหรับผู้ผ่านกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ว่า เห็นด้วยหรือไม่? ที่จะปลดล็อคเรื่องติดบัญชีดำ 3 ปีถึงแม้จะชำระหนี้ครบแล้วก็ตาม
เรื่องโดย สุกัญญา สินถิรศักดิ์
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลเครดิต (จากเว็บไซต์บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
www.ncb.co.th 
)
แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตนั้น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 โดยสมาคมธนาคารไทยได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่ามีความประสงค์ให้มีแหล่งกลางสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการให้กู้ และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารพาณิชย์ โดยขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นแหล่งกลางในการรวบรวมข้อมูล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้เริ่มงานทะเบียนเครดิตกลางขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507
หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2538 รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้จัดทำแผนพัฒนาระบบการเงินขึ้น โดยกล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตไว้ในส่วนขององค์กรทางการเงินที่สนับสนุนการพัฒนาระบบการเงิน และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการด้านศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้นในปี พ.ศ. 2538 เพื่อศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมและดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต ซึ่งคณะทำงานดังกล่าว ก็ได้ดำเนินการจนกระทั่งจะมีการลงนามในข้อตกลงร่วมทุนกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในประเทศสหรัฐ อเมริกา ในปี พ.ศ. 2539 แต่ในระหว่างปี พ.ศ. 2539 ได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย สถาบันการเงินถูกปิดกิจการไปจำนวนมาก และวิกฤตเศรษฐกิจดังกล่าวนี้ก็ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตหยุดชะงักไป
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2541 กระทรวงการคลังได้ยืนยันนโยบายให้มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อและลดภาระหนี้เสียของสถาบันการเงินต่างๆ อันเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนของสถาบันการเงินในประเทศอยู่ในขณะนั้น ในเดือนกรกฎาคม 2541 ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จึงได้สั่งการให้ ธอส. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตขึ้น
ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้ประกาศนโยบายให้สมาคมธนาคารไทยเร่งรัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิต โดยสมาคมธนาคารไทยได้จัดตั้งทีมทำงานในรูปคณะกรรมการเพื่อสานภารกิจต่อไป การดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเครดิตจึงได้แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่จัดตั้งโดย ธอส. ได้จัดตั้ง บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด ขึ้น ส่วนฝ่ายธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ได้จัดตั้ง บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ขึ้น โดยทั้งสองบริษัทก็ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ เพื่อเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่อช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้สินเชื่อ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายของธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 ด้วยทุนจดทะเบียน 26 ล้านบาท โดยธนาคารพาณิชย์ไทย 13 แห่งที่เป็นสมาชิกสมาคมธนาคารไทยเป็นผู้ถือหุ้น ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิก ได้ให้บริการข้อมูลเครดิตทั้งด้านข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา และข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้สถาบันการเงินต่างๆ ได้ใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์สินเชื่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด และ ได้ลงทุนพัฒนาระบบรายงานข้อมูลเครดิต 2 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตบุคคลธรรมดา (Consumer Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Trans Union International หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการข้อมูลเครดิตของโลก และ 2) ระบบรายงานข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ (Commercial Credit Reporting System) พัฒนาโดย บริษัท Dun & Bradstreet บริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเครดิตเชิงพาณิชย์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน
บริษัทผู้พัฒนาระบบทั้งสองบริษัทนับว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการพัฒนาระบบ และเพิ่มศักยภาพด้านบริการข้อมูลเครดิตของบริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ทั้งนี้ เพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น เป็นความร่วมมือระยะยาวและมีความต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2543 บริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับทั้ง บริษัท Trans Union International และ บริษัท Dun & Bradstreet (ผ่านบริษัทร่วมทุนในประเทศไทยชื่อ บริษัท บิซิเนส ออนไลน์ จำกัด (มหาชน)) และได้เพิ่มทุน เป็น 156 ล้านบาทและเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2543 โดยยังคงมีธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 13 แห่งถือหุ้นจำนวนเท่าๆ กัน ในอัตราส่วน 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% บริษัท TransUnion Inc. และบริษัท Business Online จำกัด ถือหุ้นรายละ 25% ซึ่งต่อมาได้เพิ่มทุนอีกเป็น 186 ล้านบาทในอัตราส่วนผู้ถือหุ้นที่เท่าเดิม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้รวมกิจการกับบริษัทข้อมูลเครดิตอีกแห่งหนึ่ง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด โดยบริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 250 ล้านบาท และได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2548 ซึ่งมีผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้อมูลเครดิตไทย จำกัด และธนาคารรวมทั้งสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาถือหุ้นในบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด โดยสัดส่วนผู้ถือหุ้นหลังการรวมกิจการ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไทยถือหุ้นในอัตราส่วนเท่าๆ กันรวมเป็น 24.50% และบริษัท Business Online จำกัด (มหาชน) บริษัท TransUnion Inc. ถือหุ้นรายละ 12.25% รวมเป็น 24.50% รวมเป็นผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตกลางเดิมถือหุ้นเท่ากับ 49% และผู้ถือหุ้นกลุ่มบริษัทข้อมูลเครดิตไทยถือหุ้น 30% ได้แก่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 15% และบริษัท พีซีซี แคปปิตอล จำกัด 15% ส่วนที่เหลืออีก 21% ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือหุ้นในอัตราส่วน 9% 6% และ 6% ตามลำดับ
หลังจากการรวมกิจการเป็นต้นมา บริษัทได้พัฒนาระบบการประมวลผลและการรายงานผลข้อมูลเครดิตให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนั้นบริษัทยังได้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลให้มีความถูกต้องและทันสมัย โดยเพิ่มศักยภาพทางด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศให้ดียิ่งขึ้น โดยบริษัทได้กำหนดเป้าหมายที่จะทำการขอใบรับรองเกี่ยวกับระบบบริหารการจัดการความปลอดภัยด้านสารสนเทศ (Information Security Management System ? ISMS) ตามมาตราฐานของ ISO 27001 ภายในปี 2550 นอกจากนั้น บริษัทได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลเครดิต ตลอดจนบทบาทของบริษัทข้อมูลเครดิตให้มากยิ่งขึ้น โดยบริษัทได้ยึดถือหลักการในการปกป้องและรักษาความลับของข้อมูลเป็นอย่างยิ่ง ตลอดจนคำนึงถือการดูแลและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน