6 กันยายน 2549 10:56 น.
หากเกิดอาการแบ็คไฟร์ดัง ?ปัง? ออกมานั้น ก็เป็นอันว่าให้เตรียมตรวจเช็คการแตกหักเสียหายของหม้อกรองอากาศ , แผ่นกรองอากาศ , ชิ้นส่วนท่อลมต่างๆ จนถึงอุปกรณ์ประเภท air flow หากเป็นอย่างหลังนี้หลายเงินหน่อย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หากไม่พูดถึงเรื่องนี้ดูเหมือนจะเชยไปหน่อย และคงไม่ช้าเกินไปหากจะพูดถึงการดูแลรักษา, การใช้งาน และเรื่องควรรู้เกี่ยวกับรถยนต์ที่ใช้ ก๊าซแอลพีจี ที่แม้ราคาน้ำมันในช่วงนี้จะปรับราคาลงแล้วก็ตาม แต่อู่ที่รับติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจีทั้งหลายเท่าที่เห็นก็ยังมีลูกค้าจอดรอกันมากมาย รวมถึงสถานการณ์ในธุรกิจนี้ที่อุปกรณ์หลักๆ ล้วนต้องนำเข้าจากต่างประเทศก็เริ่มขาดตลาด อันเนื่องจากทั่วโลกต่างก็ประสบวิกฤตการณ์ราคาน้ำมันเช่นกัน ทำให้ผู้ผลิตในต่างประเทศจึงไม่สามารถซัพพลายได้ทัน
ผมเชื่อว่าหลายท่านได้ตัดสินใจหรือนำรถไปติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา และมีปัญหาจนอยากถอดออกแล้วเขวี้ยงใส่เจ้าของอู่ (เรื่องเอ็นจีวี เท่าที่ดูยังไม่ค่อยเห็นมีปัญหาอะไรมากนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะรถที่ใช้ยังมีจำนวนน้อย และอู่ติดตั้งต้องได้รับการควบคุมมาตรฐานอย่างเคร่งครัดจาก ปตท. )
แต่ว่าตอนนี้เรามาสรุปปัญหาที่ท่านอาจสงสัยคาใจอยู่ และเรื่องที่ควรรู้กันเลยดีกว่าครับ
- เมื่อติดตั้งก๊าซแอลพีจีแล้ว จำเป็นต้องแจ้งเปลี่ยนแปลงเป็นรถใช้ก๊าซหรือไม่ ?
จำเป็นอย่างยิ่งครับ เพราะมีกฎหมายกำหนด พร้อมบทลงโทษปรับสูงสุดถึง 2 หมื่นบาท สำหรับรถยนต์ที่ติดตั้งระบบก๊าซแอลพีจีแล้วไม่ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นรถยนต์ใช้ก๊าซ โดยแจ้งให้อู่ที่ติดตั้งทราบว่าท่านต้องการเอกสารการตรวจสภาพการติดตั้งระบบก๊าซ ซึ่งต้องมีวิศวกรเครื่องกลที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้ตรวจสอบพร้อมเอกสารยืนยัน จากนั้นจึงนำเอกสารดังกล่าวพร้อมสมุดคู่มือ (เล่มทะเบียนรถ) ไปแจ้งยังสำนักขนส่งฯ
- ก๊าซจะวิ่งได้ดีเท่าน้ำมันหรือไม่ ประหยัดกว่าแค่ไหน ?
ต้องยกเอาสุภาษิตที่ว่าของถูกและดีอาจจะมีบ้าง แต่ของดีมักจะแพง เช่นเดียวกันครับ ก๊าซ กิโลกรัมละ 9 บาทกว่าๆ จะให้วิ่งได้สมรรถนะสูงสุดทั้งอัตราเร่งและความเร็วปลายเหมือนน้ำมันลิตรละ 30 บาท คงเป็นไปไม่ได้ (เพราะในชีวิตจริงของคุณบนท้องถนนคงไม่มีใครรีดสมรรถนะสูงสุดของรถออกมาใช้ตลอดเวลา) เพราะค่าพลังของก๊าซแอลพีจีก็น้อยกว่าน้ำมันอยู่ราว 20% อยู่แล้ว ครั้นจะเพิ่มปริมาณของก๊าซที่เข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อให้รถวิ่งได้ดีขึ้นก็จะกลายเป็นว่าส่วนผสมหนาเกินไปวิ่งไม่ออกอีกต่างหาก เพราะปริมาณอากาศก็ยังจำกัดอยู่เท่าเดิม งานนี้ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นการติดตั้งระบบก๊าซในระบบหัวฉีด หรือระบบมิกเซอร์ครับ เพียงแต่เทียบกันแล้วในรถคันเดียวกันนั้น ระบบหัวฉีดจะมีอัตราความสิ้นเปลืองและการตอบสนองของเครื่องยนต์ดีกว่าแบบมิกเซอร์อย่างเห็นได้ชัด
กรณีนี้บางท่านอาจแย้งว่าเคยพบว่ารถบางคันติดก๊าซแล้ววิ่งดีกว่าน้ำมันนั้น เป็นไปได้ครับ แต่เป็นกรณีไม่ปกติ เช่นรถคันนั้นผ่านการใช้งานมานาน จนอุปกรณ์บางตัวที่ควบคุมระบบต่างๆ เสื่อมสภาพไปบ้างแล้ว ทำให้สมรรถนะเมื่อใช้น้ำมันจึงตกลงไปกว่าปกติ บางครั้งการจ่ายเชื้อเพลิงด้วยวิธีพื้นๆ โบราณๆ อย่างที่เรียกกันว่าแบบมิกเซอร์ คือปล่อยให้ท่อร่วมไอดีดูดเชื้อเพลิงเข้าไปตรงๆ จึงอาจทำให้รู้สึกว่ารถยนต์วิ่งได้ดีขึ้นก็เป็นไปได้ (แต่ค่อนข้างน้อยครับ) หรือบางครั้งในทางกลับกันอาจแย่จนเครื่องยนต์ไม่สามารถเดินเบาหรือวิ่งได้เลยก็เป็นได้ครับ
ในเรื่องของความประหยัดนั้น หากเทียบกันแบบ กิโลเมตร/ลิตร แล้ว ต้องยอมรับว่าก๊าซแอลพีจีจะให้ระยะทางได้น้อยกว่าน้ำมันเบนซินอยู่ราว 20% ตามอัตราส่วนของค่าพลังงานที่น้อยกว่า เช่นน้ำมันวิ่งได้ 10 กม./ลิตร แต่ก๊าซแอลพีจีจะอยู่ที่ 8 กม./ลิตร แต่เมื่อคิดถึงค่าใช้จ่ายต่อหน่วยพลังงานของน้ำมันเบนซินที่ลิตร 30 บาท แต่ก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ 9.50 บาทแล้ว งานนี้คนละเรื่องครับ
- หากต้องการให้ประหยัดมากกว่านี้ เพราะมีบางอู่บอกว่าสามารถจูนให้ประหยัดมากขึ้นได้ จริงหรือไม่ มีผลเสียอะไรหรือเปล่า ?
ถ้าเป็นในทางธรรมะก็คงเหมือนที่พระท่านบอกว่าให้เลือกเดินทางสายกลางนั่นหละครับ อย่างที่บอกไปแล้วว่าหากอยากจะให้วิ่งขึ้น ก็ยังมีข้อจำกัด และเมื่อยากให้ประหยัดมากขึ้นไปอีกด้วยการปรับให้จ่ายก๊าซให้น้อยลง ผลก็คือส่วนผสมบาง ทำให้อุณหภูมิในห้องเผาไหม้สูงเกินปกติ หรือเกิดการชิงจุดระเบิด ตามที่ช่างชอบเรียกกันว่า ? เครื่องจาม ? หรือ back fire ผลเสียก็คือเมื่ออุณหภูมิสูงเกินไปย่อมทำให้การสึกหรอของเครื่องยนต์เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ และหากเกิดอาการแบ็คไฟร์ดัง ?ปัง? ออกมานั้น ก็เป็นอันว่าให้เตรียมตรวจเช็คการแตกหักเสียหายของหม้อกรองอากาศ , แผ่นกรองอากาศ , ชิ้นส่วนท่อลมต่างๆ จนถึงอุปกรณ์ประเภท air flow หากเป็นอย่างหลังนี้หลายเงินหน่อย
ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่ารู้ครับ อาทิ น้ำมันออโต้ลู้บเลี้ยงวาล์วจำเป็นหรือไม่ , จะตรวจเช็คการรั่วของก๊าซด้วยตัวเองได้อย่างไร , อุปกรณ์พวกนี้มีอายุใช้งานนานแค่ไหน ... พบกันตอนหน้าครับ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ