ข่าวที่ 05/19-01
วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
นายกรัฐมนตรีเปิดบ้านพิษณุโลกมองการเมืองเดือนพฤษภา
วันนี้ เวลา 08.00 น. ณ บ้านพิษณุโลก พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ใน รายการ "เปิดบ้านพิษณุโลก" ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เป็นครั้งที่สอง โดยมีนายสรยุทธ์ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินการ
พิธีกร ขณะนี้ผมอยู่ที่บ้านพิษณุโลก บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย และ แน่นอนครับ ผมอยู่กับนายกรัฐมนตรีพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ สวัสดีครับ บ้านนี้ท่านมาพักบ้างไหมครับ
นายกรัฐมนตรี ช่วงนี้ไม่ได้มา แวะมาใช้ในบางโอกาสเท่านั้นเอง รับแขก ทานอาหารกลางวัน ทานอาหารกับเพื่อน ๆ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่มาร่วมหารือกันแค่นั้น ไม่ได้ค้างคืน
พิธีกร ทำไมถึงไม่มาพักที่บ้านพิษณุโลก
นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาพักเพราะว่าห้วงเวลาที่ผมอยู่มันสั้น การที่จะเคลื่อนย้ายเสื้อผ้ามาไว้ที่นี่ค่อนข้างที่จะยุ่งยาก คิดว่าสั้น ๆ แค่นี้เอง ขับรถไปขับรถมาคงไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไร
พิธีกร หรือคิดตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นรัฐบาลรักษาการจริง ๆ มีเวลาชัดเจนจริง ๆ
นายกรัฐมนตรี ใช่
สถานการณ์ทางการเมืองเดือนพฤษภาคม
พิธีกร ขอถามท่านนายกฯ เรื่องการเมือง เดือนพฤษภาคมนี้มีบางคนบอกว่าการเมืองจะรุนแรงมาก จะมีคดียุบพรรค เรื่องของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งเริ่มสรุปคดีที่ดินย่านรัชดาภิเษกแล้ว มีเรื่องรัฐธรรมนูญ การชุมนุมที่อาจจะเกิดขึ้น คอการเมืองบอกดุเดือดแน่ ในมุมมองของท่านนายกฯ มองอย่างไร
นายกรัฐมนตรี คงจะดูเป็นเรื่อง ๆ ไป อย่างกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเรื่องของพรรคการเมือง 5 พรรค ก็เป็นส่วนหนึ่ง ผมอยากจะเรียนว่าทางด้านการวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินการตามครรลองของกฎหมาย ถ้าหากว่าเราไม่ได้รับในสิ่งที่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยของศาลที่สูงสุดแล้ว ประเทศนี้คงไม่มีกฎไม่มีระเบียบอะไร ผมคิดว่าตรงนี้คนไทยส่วนใหญ่จะต้องตระหนักว่า ถ้าเราอยู่กันโดยที่ไม่มีกฎไม่มีระเบียบ คงไม่สามารถที่จะเป็นประเทศได้ เช่นเดียวกันในเรื่องของคดีที่ คตส. กำลังจะเสนอเข้าสู่ศาลฎีกาฝ่ายการเมือง คงเป็นเรื่องที่ให้เป็นการดำเนินการตามขั้นตอน เพราะยิ่งมีปัญหาในเรื่องของการที่จะเข้าไปก้าวล่วง ก็ยิ่งจะเป็นปัญหาต่อผู้ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา นั่นจะเป็นปัญหามากขึ้น ผมคิดว่าในส่วนเหล่านี้ ถ้าหากว่าในฐานะที่ท่านเป็นประชาชน คงจะตามดูความคืบหน้า และวิเคราะห์วิจารณ์ได้ แต่ว่าความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นั้น ไม่น่าที่จะออกมาเป็นลักษณะที่ทำให้เกิดปัญหากับบ้านเมือง คือไม่ใช่ออกมาเดินขบวน ไม่ใช่ออกมาคัดค้าน คนหนึ่งสนับสนุน อีก คนหนึ่งคัดค้าน อะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
พิธีกร ประชาชนทั่วไปควรจะกลัวไหม ซึ่งเขาจะไม่ได้อยู่ข้างหนึ่งข้างใด เขาอยู่ตรงกลาง ๆ หรือจะอยู่ตรงไหนก็ตาม เขาควรจะกลัวเดือนพฤษภาคมไหม
นายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าไม่น่าจะกลัว เพราะอย่างที่ผมได้เรียนแล้ว ผมทราบดีว่าคนไทยส่วนมากรักษาความสงบ แล้วอาจจะฟัง อาจจะเชื่อ แต่บอกว่าให้ไปทำอย่างโน้นอย่างนี้ที่รุนแรงเขาต้องคิดก่อนว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม เว้นเสียแต่ว่ามีบางส่วนซึ่งอาจจะมีความคิดที่โน้มเอียงไปอย่างนั้นอย่างจริงจัง แต่ถ้าเผื่อท่านออกมาใช้ลักษณะอย่างที่ว่านี้ ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาเห็นว่าการแสดงออกในลักษณะอย่างที่ว่านั้น โดยเอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เป็นหลักอย่างเดียว ก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ซึ่งยิ่งจะเสียทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม คือโอกาสที่จะฟื้นกลับมาไม่มี
พิธีกร คือถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นมันยิ่งเสียสำหรับคนที่ทำหรืออยู่เบื้องหลัง
นายกรัฐมนตรี ครับ
พิธีกร ที่ผมถามเรื่องนี้ เพราะท่านนายกฯ บอกไว้ก่อนหน้านี้ว่าถ้าจะมีเรื่องที่ทำให้ท่านต้องตัดสินใจทางการเมืองคือลาออก คือการเกิดการปะทะกัน ซึ่งท่านพูดตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งแล้วว่าท่านไม่ต้องการให้เกิดขึ้น คือคนไทยปะทะกันนองเลือด ถ้าพูดให้รุนแรง ที่ผมถามเพราะว่าท่านกลัวไหม
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้กลัว
พิธีกร หวั่นวิตกว่าอาจจะเดินไปสู่จุดนั้น
นายกรัฐมนตรี ผมไม่ได้กลัวเลย แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลที่มีคุณธรรมจริยธรรม จะต้องตัดสินใจอย่างนั้นทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของผมหรือไม่ เมื่อประชาชนเกิดปะทะกันโดยที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถที่จะแก้ไขเหตุการณ์ได้ ก็ควรจะลาออกไป
พิธีกร นั่นคือการแสดงความรับผิดชอบ แต่ไม่ได้แปลว่ากลัวว่าจะเกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี ไม่
พิธีกร นี่คือบอกหลักการ
นายกรัฐมนตรี ใช่ ผมไม่ได้กลัว เพราะว่าทุกอย่างมีโอกาสเกิดขึ้นทั้งนั้น แต่ว่ามากหรือน้อย
พิธีกร แต่ต้องเตรียมรับมือในฐานะผู้บริหารประเทศ
นายกรัฐมนตรี แน่นอน
การวินิจฉัยชี้ขาดของศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคการเมือง
พิธีกร คดียุบพรรค แน่นอนคนส่วนใหญ่หรือคนส่วนหนึ่งอาจจะเป็นอย่างที่ท่านนายกฯ บอก คือเขาต้องการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย แต่ว่าจะมีคนเสียประโยชน์เกิดขึ้น ถ้าพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดหรือทั้งสองพรรคถูกยุบ โดยเฉพาะถ้าถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็จะมีคนเสียผลประโยชน์ ท่านประเมินอย่างไรในทางการเมือง
นายกรัฐมนตรี คงมีการแสดงออกกันบ้าง แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะรุนแรง เพราะอย่างที่ผมเรียนแล้วไม่มีข้ออ้างอื่นใด ถ้าเผื่อศาลวินิจฉัยแล้ว จะไปบอกว่าผมไม่ผิด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ลำบาก
พิธีกร แต่นักการเมืองท่านก็เคยคลุกคลีอยู่บ้าง ถูกตัดสิทธิ์ 5 ปี สำหรับนักการเมืองคือเรื่องใหญ่มาก บางคนบอกประหารชีวิตทางการเมือง
นายกรัฐมนตรี ก็เป็นเรื่องที่จะต้องยอมรับกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย ครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก ซึ่งจะต้องดูเพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะชี้ถึงคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองต่อไปในโอกาสข้างหน้า ว่าข้างหน้าคุณจะไปทำอย่างที่เกิดขึ้นมาในอดีตไม่ได้แล้ว อันนี้เป็นบทเรียนที่สำคัญ ซึ่งนักการเมืองจะต้องจดจำ ถ้าไม่อย่างนั้นนักการเมืองก็ไม่มีบทเรียน เพราะคุณทำทุกอย่างได้หมด และหลบไปหลบมา ไม่ผิด ผมว่าไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
พิธีกร ท่านไม่ได้ประเมินว่าเขาจะเคลื่อนไหว
นายกรัฐมนตรี ก็เคลื่อนไหว แต่ผมคิดว่าคงไม่ถึงขั้นที่จะมีปัญหาที่ทำให้เกิดความรุนแรง
พิธีกร คือความรุนแรงเกิดขึ้นได้สองทาง อันนี้มองจากคนนอก คือหนึ่ง ประชาชนส่วนใหญ่ออกมาเดินขบวน อีกทางหนึ่งคือสร้างสถานการณ์ให้เกิดขึ้น ท่านมองอย่างไร ไม่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นจากทั้งสองทาง
นายกรัฐมนตรี ส่วนใหญ่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะว่าส่วนใหญ่คงติดตามดู เท่าที่ผมได้ติดตามมาตลอดระยะเวลา 6 เดือน คนส่วนใหญ่มักจะฟังแล้วก็เฉย จะคงมีคนเพียงกลุ่มน้อย ๆ ซึ่งอาจจะฝังความคิด ถ้าพูดว่าฝังชิฟไว้ในสมอง ก็คงเป็นอย่างนั้น ผมยังไม่เห็นมีกลุ่มใหญ่ออกมาเลย ตลอด 6 เดือนที่ผ่านมานี้
พิธีกร เขาบอกว่าบางพรรคการเมืองมีสมาชิก 14 ล้านคน อาจจะออกมา
นายกรัฐมนตรี ก็เป็นตัวเลข แต่ผมคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่มีวิจารณญาณ ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์เองก็มีสมาชิกไม่น้อยเหมือนกัน แต่ในช่วงเวลาที่มีปัญหา ผมก็ไม่เห็นว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาเคลื่อนไหวเป็นสิบล้านอย่างที่ว่า
พิธีกร เพราะฉะนั้นเรื่องคนส่วนใหญ่ไม่แน่ ท่านไม่คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นอย่างนั้น แต่ถ้าสร้าง สถานการณ์ขึ้นมา รัฐบาลเตรียมรับมืออย่างไร หรือว่าเป็นเรื่องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)
นายกรัฐมนตรี ในส่วนเหล่านี้ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดเป็นการทำงานร่วมกัน เพราะ คมช.ก็อาจจะไม่มีเครื่องมือ ยกตัวอย่างง่าย ๆ สื่อต่าง ๆ ที่จะสร้างความเข้าใจ รัฐบาลต้องสนับสนุนสิ่งเหล่านี้ให้ ในด้านของงบประมาณรัฐบาลก็ต้องสนับสนุนให้ เพื่อให้หน่วยงานซึ่งก็เป็นหน่วยงานของรัฐอันหนึ่งคือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) คงไม่ได้เป็น คมช. ในฐานะที่เป็น กอ.รมน. ก็มีหน้าที่ที่จะดูแลในส่วนนี้
พิธีกร ค่อนข้างจะมั่นใจมากฟังจากท่าน
นายกรัฐมนตรี มั่นใจ
พิธีกร ไม่กังวลเลย เดือนนี้นอนหลับทุกคืน
นายกรัฐมนตรี ผมไม่มีปัญหาเลย ผมไม่เคยนอนไม่หลับเลย พูดตรง ๆ ในชีวิตผม ๆ ไม่เคยนอนไม่หลับ
พิธีกร ไม่กังวลเลยแม้แต่นิดเดียว
นายกรัฐมนตรี ผมมีวิธีการ ยิ่งบวชมาแล้วยิ่งง่ายนิดเดียว
พิธีกร วิธีการจัดการกับตัวเองหรือจัดการกับม็อบ
นายกรัฐมนตรี วิธีการจัดการกับตัวเองให้ไม่กังวล ตัดออกไปได้ เพียงแต่ใช้คำว่า "พุทโธ พุทโธ" หายใจเข้าก็บอก "พุท" หายใจออกก็บอก "โธ" เดี๋ยวเดียวก็หลับแล้ว ไม่ถึง 5 นาที ตื่นขึ้นมาก็ สดชื่นเป็นปกติ
พิธีกร แล้วมารับมือใหม่ค่อยมาว่ากัน
นายกรัฐมนตรี ก็ไปว่ากันอีกวันหนึ่ง